วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555






























Mission to Omkoi  (พันธกิจสู่อมก๋อย)
  เมื่อเราว่างจากงานประจำ  คิดว่าหลายคนอยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำมีความสุข  บางคนอาจจะไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ทั้งในหรือต่างประเทศ  บางคนอาจจะนอนพักผ่อนริมชายทะเล  บางคนอาจจะเขียนหนังสือ หรือ อ่านหนังสือ ฯลฯ ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน ผมเองมีความชอบหลายอย่าง  เหมือนกับหลาย ๆ คน  และเมื่อเวลาว่างพอที่จะเลือกได้ว่าจะทำอะไร ผมก็เลือกที่จะกลับไปสังฆมณฑลตัวเอง  ที่จริงกลับไปอยู่เฉย ๆ ก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไร สิ่งที่ผมตั้งใจเสมอเมื่อมีโอกาสคือไปเยี่ยมเพื่อน ๆ พระสงฆ์ในสังฆมณฑลที่ทำงานในพื้นที่ที่กันดาร  ลำบาก  ปีที่แล้ว  Mission to Salawin  ไปช่วยงานคุณพ่อคำมา อำไพพิพัฒน์ ในเขตเสาหิน  ปีนี้ผมจึงอยากจะเปลี่ยนสถานที่ใหม่  แต่วัตถุประสงค์เหมือนเดิม คือ ไปเยียมเยียนคริสตชนที่อยู่ห่างไกล  และที่ที่มีความยากลำบาก  เพื่อเป็นการเติมพลังแห่งชีวิตสงฆ์ที่มีภารกิจหลักคืองานแพร่ธรรม  อีกอย่างคืออยู่ในเมืองนานแล้ว  จึงอยากผ่อนคลายด้วยการเดินทางแบบธรรมชาติบ้าง   ด้วยข้อตั้งใจคือเป็นการเดินทางด้วยเท้า (ไม่นั่งรถ)    นอกจากฝึกความอดทนด้านร่างกายและยังฝึกความอดทนด้านจิตใจด้วย  ปีที่แล้วผมไปคนเดียว  ปีนี้ก็เช่นกันตอนแรกคิดว่าจะไปคนเดียว  แต่เมื่อบอกเล่าความตั้งใจแล้ว  มีบราเดอร์สนใจหลายคน แต่พวกเขาไม่สามารถไปได้  เพราะในช่วงเวลานั้นเองมีค่ายคำสอนตามวัดสังฆมณฑลของตนเองจึงปลีกตัวไปยาก  และมีเยาวชนหลายคนที่สนใจแต่ผมไม่อยากให้ไป  กลัวว่าพวกเขาจะไม่ไหว   อย่างไรก็ตามมีบราเดอร์อติชาติ  ธรรมวงค์จากอัครสังฆมณฑลท่าแร่ ที่สนใจจริง ๆ และขออนุญาตจากพระคุณเจ้าของเขาสำหรับพันธกิจนี้  นอกจากนั้นยังมีบราเดอร์ของสังฆมณฑลเชียงใหม่อีก 2 คนที่ต้องไปทำงานช่วยคุณพ่อในเขตนี้อยู่แล้ว คือบราเดอร์ศรศักดิ์ และบราเดอร์ประยูร  ผมจึงให้เขาไปด้วย ก่อนที่ค่ายคำสอนจะเริ่ม  ดังนั้นผมได้ติดต่อคุณพ่อ สุธี  เจริญกุล ผู้รับผิดชอบเขตอมก๋อย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย การเดินทางก็จะเริ่มต้น   แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นการเดินทางก็มีเรื่องเกิดขึ้นแบบกระทันหัน  ที่น่าตื่นเต้นและลืมไม่ลงตลอดชีวิต  คือผมตั้งใจไว้ว่าวันที่ 2 เมษายน 54 ผมจะกลับเชียงใหม่  ได้เตรียมของที่คนอื่นฝากไปทางเชียงใหม่ไว้พร้อมแล้ว  แต่ในคืนวันที่ 31 มีนาคม 54  ประมาณ สองทุ่ม  ผมได้รับโทรศัพท์จากซิสเตอร์คนหนึ่งว่า  ช่วยไปรับญาติของเขาที่สถานีตำรวจหนองค้างพลูด้วย เพราะอยู่ไม่ไกลจากแสงธรรมเท่าไหร่ เธอไม่อยากให้เขานอนค้างที่โรงพักมันอันตราย  ตอนแรกผมพยายามที่บ่ายเบี่ยงไม่อยากไปรับ  เพราะมันค่ำแล้ว  และที่แสงธรรมช่วงนั้นไม่มีเณรอยู่แล้ว  ผมเจรจาอยู่นาน สอบถามเรื่องราวต่าง ๆ และพยายามติดต่อคุยกับหญิงคนนั้นด้วยจนถึงห้าทุ่ม  เมื่อปฏิเสธไม่ได้  ผมจำใจไปรับ  ผมไปรับเธอกลับมาถึงเกือบเที่ยงคืน  เมื่อผมมาถึงที่แสงธรรม  ขณะที่ผมนำเธอไปที่พักในห้องรับแขกชั้นล่างของตึก  เธอก็กรีดร้องดังมาก  ผมตกใจเล็กน้อย  แต่ตั้งสติได้  ผมก็ถามเขาว่าเป็นอะไร  เธอตอบผมตรง ๆ ว่า ผีเข้า (เอาละซิ)  แต่ผมก็ทำใจดีสู้เสือเข้าไว้  เมื่อผมพาเธอไปที่ห้องเรียบร้อยแล้ว เธอมีอาการแบบนั้นอีก  คราวนี้ผมสวดภาวนาอวยพรเขาเสร็จแล้ว ให้เธอนอนที่นั่น  ส่วนผมกลับขึ้นไปที่ห้องชั้นสองแล้วนอน  ผมนอนไม่ค่อยหลับเท่าไหร่  จากอาการที่เกิดขึ้นของเธอ  แต่อย่างไรก็ตามผมพยายามหลับแม้ว่าจะไม่สนิทสักทีเดียว  จากนั้นประมาณตีห้า  ผมก็ได้ยินเสียงหวีดร้องอย่างน่าตกใจและน่ากลัว  แต่ผมรู้ว่าเป็นเธอแน่นอน  ผมตื่นขึ้นแต่ก็ไม่ลงไปดู  ประมาณสักหกโมงเช้า  ผมโทรคุยกับคุณพ่ออธิการปรึกษากันว่า  วันนี้จะทำอย่างไรดี  จะให้ใครเฝ้าดูแล  เพราะกว่าญาติจะมาคงจะเป็นเวลาเย็น  หกโมงครึ่งผมลงไปเพื่อร่วมมิสซาที่บ้านซิสเตอร์  ผมไปดูที่ห้องปรากฏว่าเธอหายไปแล้ว  ผมรายงานคุณพ่ออธิการทราบ  จากนั้นก็ไปร่วมมิสซา  เสร็จแล้วไปทานข้าว  หลังจากทานข้าวเสร็จ  ผมขับรถออกไปตามหา  เมื่อหาไม่เจอผมเลยไปที่สถานีตำรวจโพธิ์แก้ว  เพื่อลงบันทึกประจำวัน เจ้าหน้าที่ได้ซักถามถึงรูปพรรนสันฐานและบอกผมว่าตรงกับคนที่หน่วยกู้ภัยมาส่งให้เขาเมื่อเช้านี้คนหนึ่ง  ผมก็เลยฝากเบอร์โทรศัพท์ของผม และ ของพี่สาวของเธอให้ตำรวจ  บอกว่าถ้าเจอเธอช่วยแจ้งให้ผมทราบด้วย  จะไปรับมา  ผมกลับมทำงานตามปกติและแจ้งให้กับซิสเตอร์ที่เป็นญาติว่า  เธอหายไปแล้วกำลังตามหาอยู่  และพรุ่งนี้พ่อจะต้องกลับเชียงใหม่  ถ้าพี่น้องเขามาก็ต้องติดตามเอาเอง  จนกระทั่งเวลาประมาณหนึ่งทุ่มขณะที่ผมกำลังทานอาหารเย็นอยู่ตำรวจโทรมาหา  บอกว่าให้รีบมา เพราะคนที่ตามหานั้นมาแล้วขณะนี้อยู่ที่โรงพัก  ผมเรียกบราเดอร์อติชาติ (ที่จะไปออกค่ายด้วยกัน) ไปกับผม  พอผมไปถึงที่สถานีตำรวจ ปรากฏว่าเธอมีการประสาทหลอนกำเริบ  เธอพยายามที่จะหนี  ผมพยายามที่จับเธอไว้  และพยายามพูดคุยกับเธอ เพราะเธอรู้ว่าผมเป็นคุณพ่อ  เธอก็เชื่อฟัง  แต่วันนี้ตรงข้ามกับเมื่อวานอย่างสิ้นเชิง  อยู่ดี ๆ เธอก็บีบคอตัวเองและบอกว่ามีคนจะทำร้ายเธอ  เธอทำตัวแข็งทื่อเหมือนคนเกร็ง  ผมก็ต้องนวด  เธอจะไปไหนผมก็พยายามมห้ามไว้  เพราะคนอื่นไม่กล้าแม้จะแตะต้อง  บางครั้งเธอลอกตาขึ้นเหมือนคนจะกำลังจะตาย  ขณะที่ต้องดูแลเธอนั้น  ผมก็ติดต่อกับญาติตลอดเวลา  กว่าญาติจะมาถึงปาเข้าไปสี่ทุ่ม ในช่วงเวลาที่รอญาตินั้นเธอทำอะไรอีกมากมาย  บราเอดร์ที่มากับผมไม่กล้าแม้แต่จะอยู่ใกล้ ส่วนตำรวจก็มัวแต่ซักถามผมว่าเป็นอะไรกับเธอ  ผมตอบเขาตรง ๆ ว่าผมไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ  ผมเป็นบาทหลวงญาติพี่น้องให้มาช่วยดูแลเธอ   เมื่อญาติมาถึงพวกเขาพยายามที่จะพูดคุยด้วย  แต่ดูเหมือนอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สนใจอะไรอีกแล้ว  เพราะคราวนี้เธอบอกว่าจะไม่ไปไหนอีกแล้ว และเกาะราวบันไดสถานีตำรวจอย่างแน่น  ใช้เวลากว่าชั่วโมงเกลี้ยกล่อมเธอให้กลับบ้าน  แต่ไม่สำเร็จ  ผมจึงตัดสินใจว่ามีทางเดียวที่เอาเธออยู่คือต้องวางยาสลบ  ซึ่งก็ต้องไปวางที่โรงพยาบาลโรคจิต อยู่ที่พุทธมณฑลสาย 4   แต่จะเอาไปอย่างไรดี  ตำรวจแนะนำว่า  จะให้ อพปร. มาช่วยมัดให้  ดังนั้นตำรวจจึงไปตาม อพปร.มา 5 คน การมัดเธอก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะเธอเริ่มระแวงคนอื่นมากขึ้น  อย่างไรก็ตามเมื่อได้จังหวะ อพปร. ก็จัดการมัดเธอไว้ด้วยสก็อตเทป  เสร็จก็เอาขึ้นรถของผม  ผมขับไปที่โรงพยาบาลสุขภาพจิต  ซึ่งเป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน  เมื่อไปถึงก็เอาเธอลงมาเพื่อจะนั่งเก้าอี้  แต่เธอไม่ยอม  เราต้องช่วยกันห้าคนเพื่อที่จะจับตัวเธอไว้  แม้กระนั้นเกือบจะเอาไม่อยู่  และกว่าจะวางยาสลบได้  หมอก็ซักประวัติอีกเกือบหนึ่งชั่วโมง  ซักประเสร็จกว่าจะวางยาสลบได้ก็เกิดเรื่องตื่นเต้นขึ้นมาอีก  เมื่อเธอหลอกเราว่าจะเข้าห้องน้ำ  ช่วยแก้มัดให้เธอ  เมื่อแก้มัดเสร็จปรากฏว่าเธอวิ่งหนี  คราวนี้เราต้องไล่ตามจับกันในห้อง  กว่าจะเอาอยู่ทำเอาต้องออกแรงไม่เบา  เพราะเธอมีแรงเยอะจริง ๆ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเข้าที่  ถึงเวลาวางยา  เมื่อวางยาเสร็จ  ผมสังเกตว่าเธอเริ่มหาว  ผมคิดในใจว่าคราวนี้เรื่องราวคงจบแล้ว  ผมจะได้กลับบ้านสักที  แต่ผ่านไปได้ประมาณ 5 นาที เธอก็ลืมตาขึ้นมาอีก  เอายังไงดีคราวนี้  ไม่เป็นไรคราวนี้แม้จะลืมตาแต่ไม่มีแรงแล้ว  เราช่วยยกเธอไปที่รถแท็กซี่ที่พี่น้องเขาเหมาไว้  ให้ไปส่งที่กำแพงเพชร และนัดญาติพี่น้องทางเชียงใหม่มารับช่วงต่อพาเธอกลับเชียงใหม่  กว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยปาเข้าไปตีหนึ่งครึ่งแล้ว  ญาติพี่น้องก็ขอบคุณผมที่ได้ช่วยเหลือพวกเขาในครั้งนี้  ผมเองก็ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้  เหตุการณ์ต่าง ๆ จบลงไปด้วยดี  ผมรู้สึกเหนื่อยมาก และเวลาเดียวกันพรุ่งนี้เช้าผมต้องขับรถกลับเชียงใหม่ตั้งแต่เวลา 06.30 น.  อย่างไรก็ตามเมื่อผมย้อนกลับไปมองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ผมรู้สึกภูมิใจนิด ๆ ว่า  ผมสามารถก้าวผ่านอุปสรรค หรือความทุกข์ยากลำบากไปแล้วอีกหนึ่งอย่าง  เมื่อกลับมาถึงสิ่งเดียวที่ผมคิดคือนอน  เพื่อที่จะพร้อมในการขับรถพรุ่งนี้
เช้าวันที่ 2 เมษายน 54 ผมก็ตื่นตีห้าครึ่ง เมื่อทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็เตรียมของขึ้นรถพร้อมกับบราเดอร์ป๋อมที่ร่วมทุกข์กับผมเมื่อคืนด้วย  เมื่อทุกอย่างพร้อมผมก็ออกเดินทางกลับเชียงใหม่  และก็โทรศัพท์รายงานให้คุณพ่ออธิการทราบ  ธรรมดาผมขับรถเชียงใหม่กรุงเทพคนเดียวแทบจะไม่ต้องพัก  แต่คราวไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา  ตอนบ่ายผมรู้สึกง่วงมาก  บางครั้งรถผมถึงกับส่ายไปมา  ผมเลยต้องพักข้างทางหากาแฟมาดื่ม  เมื่อผมใกล้ถึงลำปาง ญาติของหญิงเมื่อคืนโทรมาบอกว่า  ขณะนี้เธอถูกส่งไปยังโรงพยาบาสวนปรุงแล้ว  คงต้องรักษาสักระยะหนึ่ง   ส่วนผมกลับถึงเชียงใหม่ประมาณบ่ายสามโมง  และยังมีเวลาพักอีกหนึ่งวัน  ก่อนที่จะเริ่มงานจริง ๆ
                การเดินทางเริ่มต้นในวันที่ 4 เมษายน เมื่อออกเดินทางมีสมาชิกสามคน (ผม บร.ป๋อม  บร.หนู) ออกเดินทางจากเชียงใหม่ วิ่งตามเส้นทางไปแม่ฮ่องสอน  ผ่านอำเภอจอมทองไปแวะรับบราเดอร์ศรศักดิ์พร้อมกับซื้อกับข้าวสำหรับมื้อเที่ยงไว้กินกลางทาง จากนั้นแวะไปยังบ้านมารีย์นิรมล ซึ่งเป็นบ้านของซิสเตอร์คณะแม่ปอน (ไปดูที่สำหรับการสัมมนาสามเณรใหญ่เชียงใหม่หลังจบค่ายคำสอน)  เสร็จจากที่นั่นต่อไปยังฮอด   พอถึงฮอดผมมองไปยังที่เข็มน้ำมันปรากฏว่าเหลืออยู่ครึ่งถัง  แต่เพื่อความมั่นใจในการเดินทางจึงแวะปั้มเพื่อเติมน้ำมันเพิ่ม  ปรากฎว่า ปตท. มีป้ายติดว่า ดีเซลหมด ทำเอาใจหายเหมือนกันกลัวไม่มีน้ำมัน แต่นึกได้ว่าได้ผ่านปั้มเชลล์มา  จึงย้อนกลับมาอีก 1 กม. ที่ปั้มเชลล์  ที่นี่มีน้ำมันแต่จำกัดการเติมคือเติมได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาทต่อคัน  เนื่องจากเราต้องเดินทางไกล  ผมจึงขอเติมให้เต็ม  เมื่อเติมน้ำมันเรียบร้อยแล้วจึงมุ่งหน้าไปต่อ  โดยที่เป้าหมายต่อไปนั้นคือบ่อแก้วซึ่งเป็นป่าสน มีสนามหญ้าสำหรับพักผ่อน เราพักจอดรถ  พร้อมกับทานอาหารเที่ยงที่นั่น  พักประมาณหนึ่งชั่วโมง  เราก็เดินทางต่อไปยังอมก๋อย  ซึ่งใช้เวลาสักหนึ่งชั่วโมงครึ่งไปถึงที่ศูนย์อมก๋อย  เมื่อไปถึงที่หมายแล้ว  ปรากฎว่าเจ้าวัดไม่อยู่  แต่ได้รับการต้อนรับจากเด็กที่ดูแลศูนย์อย่างดี  เมื่อจัดข้าวของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว  เราได้ยินว่าที่อมก๋อยมีเซเว่นแล้ว  พวกเราชวนกันไปซื้อของที่นั่น และหาซื้อของที่จำเป็นสำหรับการเดินทางด้วย  ไม่ว่าจะเป็รองเท้าแตะ  ไฟฉาย หมวก ผ้าเช็ดเหงื่อ ฯลฯ  พอได้เวลาเรากลับมาที่ศูนย์  คราวมีทั้งคุณพ่อและซิสเตอร์อยู่ที่นั่น  หลังอาหารเย็นเราก็วางแผนสำหรับการเดินทางพรุ่งนี้  โดยที่มีครูที่ดูแลพื้นที่ที่เราจะไปนั้นไปกับพวกเราด้วย  เมื่อการวางแผนลงตัวแล้ว ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปนอน  (นอนหลับสบายเพราะฝนตก บรรยากาศเป็นใจ)  เขตอภิบาลอมก๋อย  เป็นเขตที่แยกจากเขตแม่ปอน อยู่ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งมีจำนวนหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 47หมู่บ้าน  วัดสาขา 11 หลัง ทั้งที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน คริสตชนเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ 2 เผ่าคือ กะเหรี่ยงโป และกะเหรี่ยงสะกอ จึงมีความแตกต่างกันทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม   เขตอมก๋อยมีศูนย์อบรมเด็ก 2 ศูนย์ ศูนย์หนึ่งดูแลโดยคุณพ่อ และอีกศูนย์หนึ่งดูแลโดยซิสเตอร์คณะซาเลเซียน  ปัจจุบันในเขตนี้มีคุณพ่อดูแล 1 องค์  ครูคำสอนอีก 4 ท่าน มีคริสตชน 522 คน ผู้ที่สนใจอีก 1,470 คน

วันที่ 5 เมษายน  2554
                เราเริ่มต้นเช้านี้ด้วยมิสซาพร้อมกับคุณพ่อเจ้าวัด  ซิสเตอร์ และเด็ก ๆ อีก 4-5 คน  ขอพรสำหรับพันธกิจในครั้งนี้  วันนี้เป้าหมายของเราคือ หมู่บ้านขุนตื่น  เคยได้ยินชื่อมานานแล้วแต่ยังไม่เคยไป  รู้แต่ว่าลำบาก หลังจากอาหารเช้า สัมภาระได้ถูกจัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว (ปลากระป๋อง  น้ำพริก และแกง)  ทุกคนพร้อมที่จะออกเดินทาง สัมภาระของแต่ละคนขึ้นอยู่กับพลังของตนเอง  ใครมีแรงเยอะสามารถแบกไปได้เยอะ  แต่ที่แน่ ๆ คือเอาไปยิ่งน้อยยิ่งดี  เพราะแต่ละวันสถานการณ์ไม่เหมือนกัน  เท่าที่สังเกตมีบร.ป๋อม ที่ใส่เป้ฝรั่ง ของเพียบ พร้อมกล้องถ่ายรูปตัวใหญ่  ส่วนบร.หนูกับบร.ศร ช่วยกันทั้งสองคนคือคนหนึ่งแบกเสื้อผ้า  อีกคนหนึ่งแบบอุปกรณ์หากิน  ไม่ว่าหนังสือทำวัตร  เมาท์ออร์แกน  กีตาร์  ส่วนผมตามสังขาร แต่ที่ลืมไม่ได้คือเครื่องมิสซา  ก่อนเดินทางก็ต้องแอ็คชั่นกันหน่อย เพื่อเป็นหลักฐานว่ามาจริง ๆ เมื่อหมวดพร้อมเราก็เริ่มเดินทางทันที   เราเริ่มต้นเดินทางประมาณ 09.00 น. โดยเริ่มต้นจากบ้านคุณพ่อ (ศูนย์) เดินทางครั้งนี้ไม่มีทางลัด  ใช้ถนนเป็นหลัก  ไปได้สักพักระหว่างทางก็แวะที่บ้านแม่ยายของครูคำสอน จากนั้นเมื่อเราเดินผ่านไปสัก 2 กม. มีป้ายบอกทางว่าหมู่บ้านขุนตื่นที่เราจะไปนั้นอีกประมาณ 25 กม. ( 25 กม. บนดอยกับพื้นราบมันต่างกันมากนะครับ)  เราไม่ได้กังวลกับระยะทาง  เพราะเรามีอาหารเที่ยงระหว่างทางแล้ว  การเดินทางนั้นเป็นการไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ เนื่องจากว่ายังอยู่ในเขตที่ใกล้กับอำเภอยังมีคลื่นโทรศัพท์บ้าง บางคนก็ถือโอกาสรายงานความคืบหน้าของมิชชั่นนี้ให้สมาชิกผู้สนใจได้ทราบเป็นระยะ  ก้าวแต่ละก้าวแลกกับเหงื่อทีละหยดกว่า 3 ชั่วโมงผ่านไปเริ่มออกอาการหมดแรง  จึงต้องเติมพลังด้วยอาหารเที่ยง  แต่เราต้องหาที่สำหรับทานอาหาร ที่ที่ดีที่สุดคือข้างถนนนั่นแหละครับ  ไม่ต้องมีเสื่อปูรองนั่ง นั่งพื้นนั่นแหละ  ไม่มีจาใส่กับข้าวก้เอาใบตองมาแทนจาน  ส่วนช้อนเราก็พกมาเอง   เราทั้ง 5 คนกินอาหารอย่างอร่อย ยังไม่ทันเสร็จฝนก็มา  เลยต้องรีบอิ่มเพื่อที่จะหลบฝน  เมื่อฝนซาลงแล้วเราเดินทางต่อไป  ช่วงนี้เป็นขาลงทำให้คนที่ไม่เคยเดินทางบ่อยจะรู้สึกสบาย (แต่บางคนการขึ้นดอยอาจจะรู้สึกสบายกว่าลง)   เดินไปได้สักพัก รถชาวบ้านผ่านมามาพอดี  พร้อมกับทั้งคนและหมู่ในรถคันเดียวกัน  แต่ไม่ใช่เป็นอุปสรรคสำหรีบการเดินทางของพวกเขา   ด้วยความมีน้ำใจพวกเขาชวนเราขึ้นรถไปกับเขา  แต่เราไม่ไปทำให้พวกเขาแปลกใจไปตาม ๆ กัน  ไปได้อีกไม่นานเจอหมู่บ้านแต่ไม่ใช่หมู่บ้านเป้าหมาย  ถึงไม่ใช่แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอต้องไปแวะพักทักทายกันหน่อย ชาวบ้านต้อนรับเราด้วยมิตรไมตรี พร้อมกับความห่วงใย  กลัวว่าเราไม่ได้ทานข้าว  (ปกาเกอะญอสอนลูกหลานว่า ถ้าแขกมาในช่วงเวลาที่ใกล้เที่ยงหรือหลังเที่ยงไม่นาน  อย่าได้ถามเขาว่ากินข้าวหรือยัง  ให้เตรียมข้าวเรียบร้อย  เชิญเขาทานข้าวดีกว่า)  แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว   เจ้าของบ้านถามเราว่าทานอาหารกันหรือยัง  ไม่เช่นนั้นก็จะเตรียมให้  เราบอกเขาว่าทานมาระหว่างทางแล้ว  เราจะไปต่ออีกหมู่บ้านหนึ่งข้างหน้า  สองหมู่บ้านนี้ไม่ไกลกันเท่าไหร่  แต่ก็ไม่ใกล้สักทีเดียว บวกกับฝนตกด้วยทำให้การเดินทางลำบากขึ้นนิดหน่อย  ฉะนั้นวันนี้กว่าจะไปถึงหมู่บ้านใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง  เมื่อไปถึงหมู่บ้านสิ่งที่พวกเราทำอย่างแรกคืออาบน้ำ จากนั้นพักผ่อน พุดคุยกับชาวบ้าน ประสาคนไม่เคยพบกันมาก่อน  ที่นี่มีคริสตชนประมาณ 10 ครอบครัว  เราจึงทำมิสซาเย็นให้เขา (ทุกวันจะมีเฉพาะมิสซาตอนเย็น ยกเว้นวันอาทิตย์) หลังมิสซา ก็ร้องเพลงร่วมกัน  พูดคุยกัน  แต่ได้ไม่นาน รู้สึกว่าสังขารไม่เที่ยงแล้ว  เลยต้องกลับไปนอนพักเอาแรงสำหรับการเดินทางวันพรุ่งนี้

วันที่ 6 เมษายน 2554
                ก่อนที่เราจะออกเดินทางจากหมู่บ้านนี้  ผู้นำคริสตชนบอกเราว่า  จะมีคนเชิญเราไปสวดที่บ้านเพื่อที่จะเข้ามาเป็นคริสตชน  นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านและมีคนกลับใจ  แต่ก่อนที่เราจะไปสวดที่บ้านนี้เราต้องออกไปทานอาหารตามบ้านต่าง ๆ เช้านี้นับดูแล้ว 4-5  หลังเห็นจะได้  (การเชิญแขกไปทานข้าวที่บ้าน เป็นประเพณีปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมานานแล้ว  แม้ทุกวันนี้อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ยังปฏิบัติอยู่  โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ความเจริญยังไม่เข้ามามากมายนัก แขกบางคนอาจจะไม่เคย  บ้านแรกก็กินจนอิ่มแปล้  ทำให้บ้านต่อไปไม่มีที่ แม้กับข้าวจะดียังก็ตาม  เพราะการเรียนรู้วัฒนธรรมบางอย่างก่อนที่เราจะเข้าไปสัมผัสกับชนเผ่าใดเผ่าหนึ่ง  เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ)   เมื่อถึงเวลาเราไปสวดที่บ้าน เมื่อสวดเสร็จแล้ว ไม่รู้ว่าจะให้อะไรดีแก่คริสตชนใหม่คนนั้น เพราะไม่ได้เตรียมอะไรมา  สิ่งที่ผมติดตัวมามีแค่ หนังสือทำวัตรกับสายประคำเท่านั้น ผมจึงตัดสินใจมอบสายประคำให้  เมื่อรับไปแล้วเขาก็คล้องคอทันที เป็นการยืนยันถึงความเป็นคริสตชนได้อย่างดี  เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เราเดินทางต่อไปโดยมีชาวบ้านร่วมทางไปด้วย  เพราะต้องไปทำงานเส้นทางเดียวกัน  การเดินทางในวันที่สองนี้  ช่วงแรกดูเหมือนจะไม่น่ามีปัญหาอะไร  เพราะระหว่างทางเราก็สนุกกับเก็บผลไม้กิน (โกหว่าส่า) พอเดินไปได้สักพัก เริ่มเห็นถึงความยากลำบาก เพราะเส้นทางที่เรากำลังเดินนั้น  เป็นเหมือนขั้นบันใด แต่ว่าความยาวแต่ละขั้นนั้นเป็นร้อยเมตร  (สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร)  และเราไม่รู้ว่ามันมีกี่ขั้น ช่วงนี้รู้สึกว่าสัมภาระกำลังหนักขึ้นเรื่อย ๆ  ในระหว่างทางเราเก็บผลไม้กินไปด้วย และดื่มน้ำตาม  ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียคล้ายจะท้องเสีย  ผมเองรู้สึกไม่ค่อยดีและปวดหัวด้วย  เพราะฉะนั้นการเดินทางในวันนี้  ต้องเรียกว่าแข็งใจเดิน  ไม่เช่นนั้นไปไม่ถึงที่แน่นอน  ระยะทางเดินไม่น้อยกว่าเมื่อวาน  แต่เรารู้สึกว่ามันหนักและเหนื่อยกว่าเมื่อวานด้วยซ้ำ  เดินทางไปได้ประมาณ 4 ชั่วโมง เราพบหมู่บ้านหนึ่ง  ซึ่งครูได้บอกเราว่า  หมู่บ้านนี้เคยมีคาทอลิกมาก่อน  แต่เมื่อคุณพ่อไม่ได้มาเยี่ยมนาน ๆ พวกเขาก็หันไปเป็นคริสตเตียนแทน  แต่อย่างไรก็ตามพวกเขา เตรียมอาหารเที่ยงต้อนรับเราอย่างดี  หลังอาหารเที่ยงเราเดินทางต่อไปอีกไม่ไกลเจอกับหมู่บ้านอีกแต่ยังไม่ใช่เป้าหมาย  ถึงไม่ใช่หมู่บ้านเป้าหมายพวกเขาก็เชิญเราพักก่อน  ผมเองรู้สึกว่าอาการปวดหัวและท้องเสียนั้นไม่ดีขึ้น  ผมถือโอกาสนอนพักสักครู่ก่อนที่จะเดินทางต่อไป ขณะที่เราเดินทางอย่างตั้งใจนั้น  ก็มีการประจญเกิดขึ้น  ผอ.โรงเรียนขับรถผ่านมาพอดี  ท่านเชิญเรานั่งรถไปกับเขา  แต่เราก็ปฏิเสธไปอย่างไม่มีเยื่อใย  ถึงกระนั้นท่านก็คะยั้นคะยอเรา  และถามว่าทำไมต้องเดิน  ผมตอบท่านง่าย ๆ ว่าผมอยากจะเดิน  เพราะผมอยู่ที่กรุงเทพนั่งรถตลอดเวลาจึงขอเดินบ้าง  แต่ท่านพยายามให้เรานั่งรถ  สุดท้ายท่านก็จากไปอย่างหมดหวัง แต่ไปได้ไม่กี่ร้อยเมตรก็เจอกับกลุ่มที่สองคือบราเดอร์อีก 3 คนที่ล่วงหน้าไปก่อน  ท่านพยายามที่จะให้ขึ้นรถไปกับท่านเหมือนกัน  แต่เมื่อบราเดอร์ไม่เห็นผมนั่งมากับรถ ไหนจะกล้าขึ้น  ผ่านไปผมบอกกับบราเดอร์ว่า  ลองคิดดูว่าเรามีขาไว้ให้เดินทาง  ถ้าวันหนึ่งเราไม่มีขาแล้ว  เกิดอยากจะเดินขึ้นมา คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่น้อย ฉะนั้นเราจึง เดินต่อไปและแน่วแน่ต่อความตั้งใจที่เรามี  จากนั้นเราพยายามเดินทางต่อไปจนถึงหมู่บ้านเป้าหมาย  ที่นี่มีเด็ก ๆ หลายคนไปเรียนที่ศูนย์อมก๋อย  พวกเขาคุ้นเคยกับคุณพ่อ ซิสเตอร์ดี  เวลาพวกเรามาถึงพวกเขาทักทายอย่างเป็นกันเอง แต่พ่อและบราเดอร์ทั้งหลายต้องยอมรับว่าหมดสภาพเหมือนกัน  สิ่งที่ผมทำต่อไปคือ ทานยาแก้ปวดแล้วนอนพัก ส่วนที่เหลือซักเสื้อผ้าและพักผ่อน  บราเดอร์ศรศักดิ์บอกว่า หากต้องเดินต่ออีกสัก 1-2 ชั่วโมง คงต้องยอมแพ้แน่ ๆ  ที่นี่มีคริสตชนหลายครอบครัวแต่ยังไม่มีวัดน้อย  เราค้างคืนที่นี่หนึ่งคืนเพื่อสวดภาวนาและร่วมมิสซาด้วยกัน

วันที่ 7 เมษายน  2554
                เช้าวันใหม่นี้  หมู่บ้านเป้าหมายต่อไปนั้นอยู่ไม่ไกล ประมาณ 2-3 กม. เพราะฉะนั้นเรามีเวลาพักถึงบ่าย  เมื่อไม่มีอะไรทำ เยาวชน 3-4 คนพาเราไปเยี่ยมคริสตชนตามบ้านต่าง ๆ ทุกบ้านที่เจ้าของอยู่   เป็นประสบการณ์ดี ๆ เพราะเมื่อเราไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้าน  สิ่งที่พวกเขาขอคือให้เราสวดภาวนา  อวยพรสมาชิกและเสกบ้านของพวกเขา  ผมรู้สึกดีและรู้สึกถึงความมีคุณค่าในชีวิตสงฆ์   สิ่งที่ชาวบ้านแสดงออกมาคือพวกเขาอยากได้รับพรจากพระเจ้าผ่านทางพระสงฆ์ที่มาเยี่ยม  ผมสวดภาวนาพร้อมกับพวกเขา  อวยพรเขาและพรมน้ำเสกในบ้าน แค่นี้พวกเขาก็รู้สึกอุ่นใจ  มั่นใจในความคุ้มครองของพระเจ้าตลอดปี เป็นความเชื่อแบบซื่อ ๆ ที่ไม่ต้องหาเหตุผลมาอธิบาย   เราอยู่ที่หมู่บ้านนี้ถึงหลังอาหารเที่ยง  จากนั้นเราเดินทางต่อไปหมู่บ้านที่ 3  หมู่บ้านนี้มีผู้ใหญ่บ้าน  อบต. ที่เป็นคาทอลิกด้วย  ซึ่งเช้านี้ผู้ใหญ่บ้านจะไปที่แม่สะเรียง  เพื่อดำหัวพ่อแม่ในโอกาสสงกรานต์ที่จะถึงนี้   ตอนแรกไปกับลูก ๆ อีก 3 คน พอได้ยินว่าคุณพ่อจะมาพักที่บ้านจึงบอกลูกสาว 2 คนว่าให้กลับไปช่วยแม่ที่บ้าน  เรามาพบกับหมอที่ทำงานอยู่ที่หมู่บ้านนี้   พอดีเลยเพราะสิ่งแรกที่เราทำคือไปที่อนามัยเพื่อตรวจสุขภาพ (พ่อกับบราเดอร์ศรศักดิ์)  ส่วนบราเดอร์ป๋อมกับบราเดอร์หนูก็ถ่ายรูปประสาคนสบาย   เมื่อตรวจเสร็จแล้วหมอให้เกลือแร่เพื่อทดแทนพลังที่สูญเสียไปจากการที่ท้องเสีย  หมู่บ้านนี้มีวัดน้อยด้วย  เราจึงนัดกันเข้าวัดหนึ่งทุ่ม  โดยที่คิดว่าไฟฟ้าจะใช้การได้  ปรากฎว่าไฟฟ้ามีปัญหา  ฉะนั้นคือนี้ก็ทำมิสซาแบบโรแมนติกเพราะจุดเทียนกันทั่ววัด  ได้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง  หลังมิสซาส่วนใหญ่เราอยู่กันไม่นานก็ต้องกลับมานอน  เพื่อเอาแรงสำหรับวันใหม่

วันที่ 8 เมษายน  2554
                วันนี้ในภาคเช้า เราก็ถือโอกาสเยียมคริสตชนตามบ้าน  พร้อมกับสวดภาวนาเพื่อครอบครัวของเขาแต่ละครอบครัว  จากการสนทนากันเราก็ได้รับรู้ปัญหา  ความทุกข์ยากลำบากมากมาย  บางอย่างเราก็พอช่วยได้  บางอย่างเราก้ไม่สามารถช่วยได้  ได้แค่ภาวนาให้เขา  มีลุงคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่สบายมานานแล้ว  เขาทำทุกวิถีทางแต่ก็ยังไม่หาย  จึงขอคุณพ่อภาวนา อวยพรเขาเพื่อว่าจะหายจากโรคนี้  ดูแล้วเป็นความเชื่อที่ท้าทายพระเจ้าอย่างมาก  แต่เวลาเดียวกัน  ผมก็คิดในใจว่า  ถ้าพระองค์ทำอัศจรรย์ให้คนนี้หายจากโรค  คงจะทำให้เกิดความเชื่อที่มั่นคงและมีผลต่อคนอื่นก็ได้   บ้านหลังสุดท้ายที่เราไปเยี่ยม  เป็นผู้อาวุโสที่เป็อัมพฤติ     จนกระทั่งก่อนเที่ยงครูคำสอนมาบอกผมว่า  มีชายคนหนึ่งถามว่าทำไมคุณพ่อไม่ไปเยี่ยมเขา  ครูอธิบายเพิ่มเติมว่า  คนนี้เคยเป็นคาทอลิกมาก่อนและเวลานี้เปลี่ยนมาเป็นคริสตเตียนแต่เขายังให้ความเคารพคุณพ่อเหมือนเดิม  เวลาคุณพ่อเจ้าวัดมาท่านก็จะไปเยี่ยม  เมื่อได้ยินดังนี้แล้ว  ผมไม่รอช้าจึงไปที่บ้านเขาทันที   เขารอต้อนรับเราด้วยความดีใจที่เรามาเยี่ยม หลังอาหารเที่ยงเราเดินทางต่อไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง (หมู่บ้านหล่องน้อย)  มีคริสตชนสิบกว่าครอบครัว  มีวัดน้อยอยู่บนเนิน  มองเห็นทิวทัศน์ของหมู่บ้านได้ชัดเจน  บรรยากาศดีมาก  แต่มีปัญหานิดหน่อยในเย็นนี้คือน้ำไม่มา  แต่พอมีสำหรับอาบอยู่บ้าง  ที่นี่นอกจากมีวัดคาทอลิกแล้ว  ก็ยังมีวัดของพี่น้องโปรแตสแตนท์ด้วย  และสองนิกายนี้ดูเหมือนว่าจะแข่งขันกันอยู่ในเขตนี้   
วันที่ 9 เมษายน  2554
                วันนี้สมาชิกของเราจะน้อยลงไปอีก 1 คน เนื่องจากบราเดอร์อติชาติ (ป๋อม) ต้องกลับบ้าน  เราจึงต้องหาคนไปส่ง  เพราะที่นี่ห่างจากอมก๋อยประมาณ 60 กม. หากจะให้เดินเท้ากลับบ้านกลัวว่าจะหมดแรงก่อน  มี อบต.หมู่บ้านที่เราพักวันก่อนรับอาสาไปส่ง  ตอนแรกเขาตั้งใจจะเอามอเตอร์ไซด์ไป  ผมบอกเขาว่ากลัวจะขึ้นดอยไม่ไหว โดยคำนวนจากความเป็นไปได้ เพราะเจ้าของรถหนัก 75 กก. บร.ป๋อม 85 กก. สัมภาระอีก ประมาณ 20 กก. รวมแล้ว 180 กก. ปรากฎว่าเป็นไปอย่างที่ตั้งข้อสังเกตไว้  เพราะ รถมอเตอร์ไซด์เอาไม่อยู่  เลยต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์แทน  ส่วนพวกเราหลังจากที่ลากันเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไปทานข้าวตามบ้านต่อ  ก่อนที่จะเดินทางต่อไปอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ชื่อบ้านผะเบี้ยว   แม้หมู่บ้านี้จะไม่ไกลมากแต่เราก็ออกเดินทางตอนเช้า  เกะว่าเมื่อไปถึงแล้วจะซักเสื้อผ้า  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงหมู่บ้านผะเบี้ยว  เมื่อไปถึงเราไปซักผ้าที่แม่น้ำ  ส่วนตอนบ่ายไม่รู้ทำอะไร ก็คุยกับเจ้าของบ้านถึงประวัติเรื่องราวของหมู่บ้าน  ตลอดจนความเป็นมาเป็นไปของหมู่บ้าน   ส่วนบราเดอร์ไปที่โรงเรียน  ผมเห็นเด็ก ๆ ว่างอยู่  จึงบอกพวกเขาให้ ไปอยู่กับบราเดอร์ที่โรงเรียน  โดยให้ไปตามเพื่อน ๆ มา สักพักมากันประมาณ 30 คน บราเดอร์นำกิจกรรมไปเรื่อย ๆ  ประมาณบ่ายสามโมงฝนเริ่มตกหนักจนเริ่มรู้สึกหนาว ส่วนเด็ก ๆ ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน    พอตอนเย็นก็เข้าตารางปกติคือไปทานอาหารตามบ้าน  หลังอาหารมีมิสซา  เป็นที่น่าสังเกตว่า แต่ละหมู่บ้านมีคนรับศีลน้อย  บางหมู่บ้านมีแค่คนเดียว  ทั้ง ๆ ที่คริสตชนมีหลายสิบครอบครัว

วันที่ 10 เมษายน 2554
                วันนี้เป้าหมายต่อไปคือบ้านราชา แม้จะไม่ไกลมากแต่เราออกเดินทางแต่เช้า  ออกจากหมู่บ้านโดยไปเส้นทางลัด (สุภาษิตปกาเกอะญอกล่าวไว้ว่าไปทางลัดใช้เวลานานกว่าเส้นทางปกติ เพราะถ้าไม่รู้เส้นทางจริงอย่าไป หรือ เหมือนกับ GPS ที่บอกเส้นทางเราหลายครั้งแม้จะเป็นทางลัดแต่ไม่ใช่เส้นทางของรถยนต์) ฉะนั้นเราไปได้สักกิโลกว่า ๆ เราเริ่มงมหาเส้นทางกันแล้ว ทางเดินมันไร่เหล่าเก่า  และเวลาเดียวกันฝนตกด้วย  กว่าจะออกถนนใหญ่ได้เล่นเอาเหงื่อแตกไปตาม ๆ กัน  เมื่อเจอถนนใหญ่แล้ว  เราจึงไม่พรากจากมันอีกเลย  และจะนี้ไปจะไม่ไว้ใจทางลัดอีกต่อไป  ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงไปถึงหมู่บ้าน วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เมื่อเราไปถึงหมู่บ้าน พบว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่อยู่บ้านไปสร้างวัด (ปกติแล้วในวันอาทิตย์ชาวบ้านจะไม่ทำงาน และ ไม่ไปไหน) เราตามไปดูที่วัด พูดคุยกับช่างถึงความจำเป็นที่ต้องทำในวันนี้  ซึ่งชาวบ้านบอกว่าต้องรีบทำ เพราะช่วงสงกรานต์จะต้องหยุดหลายวัน    เนื่องจากว่าหมู่บ้านราชานี้เป็นทางแยกที่จะไปหมู่บ้านอื่นได้สองทางและเป็นหมู่บ้านที่เราต้องกลับมาอีกครั้งในวันสุดท้าย  ฉะนั้นเราจึงเปลี่ยนแผนโดยตันสินใจเดินทางต่อไปอีกหมู่บ้านหนึ่งข้างหน้าคือบ้านห้วยผึ้งในวันนี้   หมู่บ้านห้วยผึ้งนี้แม้จะมีถนนใหญ่ รถไปได้  แต่เมื่อลงไปแล้ว  น้อยคันนักที่อยากจะกลับขึ้นมา  เพราะเส้นทางมันชันมาก และถ้าอยู่ที่บ้านห้วยผึ้งมาบ้านราชาต้องขึ้นเขาอย่างเดียวใช้เวลากว่าครึ่งวัน  เราออกเดินทางหลังอาหารเที่ยงไปถึงบ้านห้วยผึ้ง ในระหว่างทางเราก็เห็นภูเขาลูกใหญ่ที่หมอกปกคลุมด้วยหมอกตลอดเวลา  เราถามครูคำสอนว่า ภูเขานี้ชื่ออะไร  ครูตอบว่าภูเขาโนอาห์  เพราะมีคนพบซากเรือที่นั่น  มีคำถามในใจว่าชาวบ้านรู้จักเรือโนอาห์ได้อย่างไร   มีหมู่บ้านเรียงรายรอบเชิงเขานี้  มีพระสงฆ์พุทธได้ไปก่อสร้างเจดีย์บนยอดดอยด้วย  เราเดินลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่รีบ ประมาณ 4 โมงเย็นก็ถึงหมู่บ้านห้วยผึ้ง   ในหมู่บ้านนี้มีเด็กหลายคนไปเรียนที่ศูนย์เช่นกันโดยเฉพาะลูกของผู้นำคริสตชน  ช่วงนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นฤดูร้อนแต่ฝนตกทุกเย็น ลมพัดแรง หลังคาบ้านสมาชิกของเราปลิวไปตามลม  จึงต้องรอซ่อมเสร็จก่อนถึงเริ่มมิสซาได้  เวลาที่พักค้างคืนที่นี่  ผมคิดในใจว่า  ถ้าเกิดมีคนเจ็บป่วยร้ายแรงขึ้นมา  จะไปส่งโรงพยาบาลอย่างไร  ไกลก็ไกล  ถนนก็ลำบาก  แต่โชคดีที่พวกเขามีสุขภาพที่ดีกัน

วันที่ 11 เมษายน  2554
                วันนี้เราเตรียมตัวพร้อมตั้งแต่เช้า และการเดินทางวันนี้ไม่เหมือนวันก่อน ๆ เพราะที่ผ่านมานั้นเราเดินตามเส้นทางรถยนต์ที่กว้างและสบาย  แต่วันนี้เราต้องเดินตามเส้นทางในป่าเป็นการขึ้นเขาตลอด เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านไปทำไร่  พวกเขาบอกเราว่า  เขาไปไร่ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง  เพราะฉะนั้นบางช่วงพวกเขาก็ไปค้างคืน  และเนื่องจากเส้นทางเดินป่า เราไปเองไม่ถูกแน่  จึงขอให้ชาวบ้านไปส่ง เจ้าของบ้านยินดีที่จะไปส่งเราครึ่งทาง (ถ้าหากไปเองดีไม่ดีก็จะกลับมาที่เดิม  เพราะสันเขาต่าง ๆ นั้นทอดยาวติดต่อกันตลอด)  การเดินทางที่เส้นทางแคบ ๆ มีเถาวัลย์ มีหญ้าสูง ก็สร้างความลำบากและความรำคาญไม่น้อย  แต่เวลาเดียวกันก็เป็นการเดินทางแบบธรรมชาติที่สุด  ในช่วงเช้านี้เราต้องออกแรงมาก  จึงห่อข้าวเพื่อกินกลางทาง  ในระหว่างทางเนื่องจากมีฝนตกด้วย  ทำให้ทากต้องออกหากิน  บราเดอร์บางคนก็ต้องเสียเลือดให้มันบ้าง  การเดินทางเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกอย่างเงียบสงบแสดงว่าทุกคนกำลังมีสมาธิกับการเดินทาง  บางคนอาจจะเหนื่อยไม่อยากพูด  เพื่อความอดทนจะมีมากขึ้น ผมเองบางช่วงก็จะเป็นอย่างนี้  เพราะฉะนั้นเราก็พยายามพูดคุยกันบ้าง  เพื่อผ่อนคลายเมื่อเราเดินทางได้ครึ่งวันเราถึงยอดดอยพอดี  เราตัดสินใจทานข้าวที่นี้แม้จะไม่มีน้ำก็ตาม  เราเหมือนอยู่บนหน้าผา เพราะข้างหน้าเราเหมือนเป็นเหวใหญ่ ลึก  ผมรู้สึกว่าเรากำลังอยู่บนฟ้า  มองลงไปเห็นหมู่บ้านที่จะไปอยู่ข้างล่างโน้น  (ถ้ามีร่มคงโดดลงไปได้)  เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว  เราก็แยกจากคนนำทาง  เพราะมั่นใจว่าหมู่บ้านที่เราเห็นนั้น เราสามารถไปถึงเองได้  และจากนี้เป็นต้นไป เราต้องเดินลง  อย่างที่ผมบอก  เมื่อข้างหน้ามันคล้ายเป็นเหว  ความชันจึงไม่ต้องพูดถึง  อาจจะ70-80 องศา  เวลาเดินลงก็ต้องจับไม้ เถาวัลย์ เพื่อรั้งตัวเองไว้  เดินลงไปสักพัก ก็พบกับสองสามีภรรยาและลูกน้อยหนึ่งคน  โดยที่ภรรยาแบกเป้  ส่วนสามีนั้นอุ้มลูกไว้ในอ้อมกอดอย่างดี  พร้อมกับอาวุธปืนประจำกายหนึ่งกระบอก (ผมก็คิดในใจว่า  ขณะที่เราเดินลงมาที่ว่าลำบาก  แต่สองคนนี้เดินขึ้นคงต้องลำบากกว่าเราแน่  และหนูน้อยที่พ่อแม่พามาด้วย  และปกป้องเขาไว้อย่างดี  เป็นการแสดงออกถึงความรักที่ยิ่งใหญ่  ถ้าเด็กคนนี้เติบโตและเป็นคนดี  ความรักนี้ย่อมมีคุณค่ามหาศาลและไม่สูญเปล่า  แต่ถ้าเด็กน้อยนี้โตขึ้นมาเป็นคนไม่ดีจะเป็นความเศร้าใจขนาดไหนของพ่อแม่)  เวลาเดินลงมา  บางช่วงเราเดินช้าไม่ได้  เพราะความชันเราจึงต้องวิ่งลงไป และจับไม้ไปตามทางเรื่อย ๆ มีฝ่นคลุ้งตลอดทางโดยเฉพาะช่วงที่เป็นที่พึ่งจะเผาเสร็จ  มีขี้เถ้าสีดำติดตัวเราด้วย ใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่งไปถึงหมู่บ้านทีทอถ่า   เมื่อเราไปถึงหมู่บ้าน ครูคำสอนบอกว่า  เส้นทางเดินและหมู่บ้านนี้ยังไม่เคยมีพระสงฆ์มาเลย  คุณพ่อเป็นคนแรกที่มาที่นี่ (หมายถึงพระสงฆ์)  ผมก็รู้สึกภูมิใจนิด ๆ ว่า  ได้ทำบางอย่างที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน  หมู่บ้านนี้มีคริสตชนอยู่ประมาณ 30 คน  เนื่องจากพื้นที่ห่างไกลและการเดินทางลำบาก  คุณพ่อในเขตวัดยังไม่เคยมา  และอาจจะเป็นเพราะว่าที่นี่มีคนรับศีลอยู่ไม่กี่คนก็ได้   เรามาถึงบ่าย  เมื่อเข้าที่พักแล้วเราต้องไปซักผ้า  อาบน้ำกันเพราะระหว่างทางที่เราเดินมานั้น ผ่านไร่ที่ชาวบ้านพึ่งจะเผา  ทำให้เราเต็มไปด้วยขี้เถ้าตามตัว  พอประมาณสักบ่าย 4 โมง  เจ้าของบ้านก็มาถามผมว่า  จะให้ฆ่าหมู่เมื่อไหร่   ผมก็งงว่าฆ่าหมูทำไม  เลยถามเขาว่าฆ่าทำไม  เขาตอบว่า ต้อนรับพ่อที่มาเยี่ยม (เพราะมีคนบอกเขาก่อนแล้วว่าพวกเราจะมาในวันนี้  เลยเตรียมหมูไว้สำหรับฉลองพระสงฆ์มา)  ที่จริงแล้วผมไม่ได้แปลกใจในการต้อนรับ  เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกาเกอะญอ  แขกมีความสำคัญสำหรับพวกเขาเสมอ ทำให้ผมนึกถึงอับราฮัมที่ต้อนรับพระเจ้าและพระองค์ทรงอวยพรเขา)   ผมเลยตอบเขา  ฆ่าแต่เนิ่น ๆ ก็ดี  เพราะถ้าหากเย็นแล้วอาจจะไม่สะดวก  เพราะไม่มีไฟฟ้า  ทุกคนก็ทำตาม  ช่วยกันจัดเตรียมอาหาร เมื่อทุกอย่างเตรียมเสร็จแล้ว  ก็เชิญคริสตชนทุกคนมาทานอาหารร่วมกัน  โดยที่ก่อนจะทานอาหาร ให้คุณพ่อได้ภาวนาอวยพรอาหาร  บรรยากาศเป็นแบบคริสตชนในสมัยก่อนจริง ๆ ทั้งการกินอาหารและการสวดภาวนาร่วมกัน  ปัญหาที่เราพบที่นี่คือยังมีคนที่ติดฝิ่นอยู่แม้ที่เป็นคาทอลิกแล้วก็ตาม  จึงทำให้มีผลต่อการเรียนรู้ในเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย

วันที่ 12  เมษายน   2554
                ตอนเช้าก่อนที่เราจะจากหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านถามผมว่า  คุณพ่อจะอยู่กับเรากี่วัน  ผมบอกเขาว่า  วันนี้พ่อจะไปต่ออีกหมู่บ้านหนึ่ง ( เขาคิดว่าพ่อคงจะมาอยู่หลายวัน  เพราะว่าไม่เคยมีคุณพ่อมาเลย  คิดแล้วก็น่าเศร้า  ความจริงแล้วน่าจะมีเวลาสำหรับการเรียนรู้ศาสนามากกว่านี้  ความไม่รู้ศาสนาของเขานั้นเราโทษเขาไม่ได้  พวกเขาอยู่อย่างผู้มีความเชื่อที่ไม่ต้องใช้ความรู้มากมาย  แต่ก็สำคัญเช่นกันที่ความเชื่อจะได้รับการหล่อเลี้ยง จากพระวาจาและศีลศักดิ์สิทิ์) วันนี้เราต้องกลับไปที่บ้านราชาเป็นหมู่บ้านที่เราจะค้างคืนคืนสุดท้ายสำหรับพันธกิจในครั้งนี้    การเดินกลับไปบ้านราชานั้น  ไม่ว่าจะออกมาจากห้วยผึ้งหรือ บ้านทีทอถ่าต้องขึ้นดอยเหมือนกัน   และระยะทางไม่ห่างกันเท่าไหร่ประมาณแค่ครึ่งวันเท่านั้น  เราออกเดินทางอย่างพากเพียรและอดทน (เพราะนี่คือหมู่บ้านสุดท้ายที่เราจะได้เดิน  เพราะวันต่อไปเราก็จะกลับอมก๋อยโดยรถยนต์)    เราออกเดินทาง 08.00 น.ไปถึงบ้านราชา 11.30 น.  เช่นเดียวกับหลาย ๆ วันที่ผ่านมาคือชาวบ้านได้ห่อข้าวให้เราพร้อมกับกับสำหรับมื้อเที่ยง  แม้ว่าเรามั่นใจว่าจะถึงหมู่บ้านก่อนเที่ยงแน่นอนก็ตาม    ระหว่างการเดินทางเราสามารถมองเห็นหมู่บ้านอีกหลายหมู่บ้านที่ยังไม่มีคริสตชน  เป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับผมในปีต่อไป  เดินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใกล้หมู่บ้าน  เราก็แวะไปที่วัดซึ่งกำลังสร้างอยู่ พูดคุยกับช่างและถือโอกาสทานข้าวด้วยกันที่นั่นทั้ง ๆ ที่ห่างจากหมู่บ้านแค่ 300 เมตรเท่านั้นเอง  เมื่อเข้าที่พักแล้ว มีชาวบ้าน 2 คนมาพบความประสงค์ว่าเย็นนี้เชิญคุณพ่อไปสวดภาวนาที่บ้าน ที่เคยกล่าวไว้แล้ว ในการไปสวดภาวนาตามแต่ละบ้านนั้น พวกเขาจะเตรียมอาหารเลี้ยงทุกคนที่มาร่วมสวดภาวนา นั่นก็หมายความว่าพวกเขาต้องฆ่าหมูแน่นอน แต่ถ้าเป็นสองบ้านคงทานไม่ไหว พ่อเลยขอเขาว่า เย็นนี้เอาแค่บ้านเดียวก็พอ  ส่วนอีกหลังหนึ่งขอเป็นพรุ่งนี้เช้า พวกเขาไม่ขัดข้อง  เมื่อถึงเวลาเราก็พร้อมกันไปสวดภาวนาขอพรเพื่อเจ้าของบ้าน หลังจากทานอาหารเสร็จผมก็เดินกลับที่พัก   ระหว่างทางผมผ่านบ้านหลังหนึ่งและมีความคิดเกิดขึ้นในใจว่า  บ้านหลังนี้เขาอยู่กันอย่างไร  เพราะแม้แต่บราเดอร์จะถ่ายรูปไว้  ผมยังไม่อยากให้บราเดอร์ถ่ายด้วย  สภาพของบ้านดูแล้วน่าสงสารเจ้าของ  เวลาเดียวกันคนที่ผมนึกถึงคนแรกคือเพื่อนของผมคุณพ่อวินัย  บุญลือ คณะเยซูอิต  เพราะคุณพ่อมักจะพานักศึกษาคาทอลิกไปสร้างบ้านให้เชาวบ้านเสมอ (จากนั้นไม่นานผมได้ยินว่าคุณพ่อไปสร้างบ้านให้ชาวบบ้านในเขตนี้  แต่ไม่ทราบว่าเป็นบ้านที่ผมเล่าหรือเปล่า) และหลังมิสซาแล้ว  เจ้าของบ้านอีกหลังที่จะสวดพรุ่งนี้มาพบผมถามว่า  หมูของเขาที่ฆ่าสำหรับงานพรุ่งนี้นั้นดี (อวัยวะ) ไม่ดี (คือน้ำดีไม่เต็ม) พ่อถือไหม (เพราะสำหรับคนที่ยังอยู่ในศาสนาเดิมถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีต้องฆ่าตัวใหม่)  พ่อตอบเขาว่าพ่อไม่ถือ เพราะพ่อไม่ได้กินดีแต่พ่อกินเนื้อมัน ไปเตรียมตามปกติไม่ต้องคิดอะไรมาก  เขาจึงกลับไปพร้อมกับความั่นใจ ไม่ต้องฆ่าตัวใหม่แน่นอน

วันที่ 13  เมษายน  2554
                และแล้วพันธกิจนี้กำลังจะจบลง  แต่ยังมีชาวบ้านที่รอเราไปสวดภาวนาที่บ้านอยู่  ได้เวลาเราก็ไปตามนัด เราเชิญชวนกันไปสวดภาวนาก่อนที่เราจะเดินทางกลับ  การเดินทางกลับนั้นได้รับความอนุเคราะห์จาก อบต.แม่โขง พวกเขารอเราจนเสร็จภารกิจต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว (ก่อนกลับบ้านเจ้าของบ้านยกขาหมู่ข้างหนึ่งมาให้ (ประมาณ 10 กก.) บอกว่าให้พ่อเอากลับไปบ้าน  พ่อเลยให้ครูคำสอนไปจัดการ
                เราออกเดินทางจากบ้านราชาด้วยรถยนต์แต่เนื่องจากคนขับรถเป็นมือใหม่มาก (มาก)   แทนที่เราจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ก็บวกอีกเท่าตัว ระหว่างทางเราก็ลุ้นกันอย่างเคร่งเครียดไม่แพ้โชเฟอร์  นอกจากถนนที่ไม่ดีแล้ว  เกิดฝนตกกระทันหัน  เราจึงต้องละรถเขาไปหลบฝนในร้าน  เพราะไม่เช่นนั้นหัวโนนแน่  ฝนตกมาพร้อมกับลูกเห็บ  อย่างไรก็ตาม เรามาถึงศูนย์อมก๋อยอย่างปลอดภัย (บราเดอร์บอกว่าแม้จะนั่งรถ  แต่รู้สึกว่าแย่กว่าเดินเท้าเสียอีก)  เมื่อกลับมาที่ศูนย์แล้ว เราก็จัดการกับผ้าที่เปียกฝน  ตากไว้  เพราะทุกอย่างเปียกหมด  ไม่ว่าหนังสือทำวัตร  หนังสือมิสซา  ชุดต่าง ๆ เมื่อจัดการทุกอย่างแล้ว  เราก็ชวนกันไปทานอาหารข้างนอกกัน  เพราะที่ศูนย์ไม่มีใครอยู่  ไปทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง  กินสามคน กับข้าวสามอย่าง ข้าวเปล่า 3 จาน ลองเดาซิว่าน่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่  อาหารมื้อนี้ราคา 180 บาท  ครั้งแรกที่ผมฉลองกันด้วยเงินเท่านี้แต่ก็อิ่มได้    และเย็นนี้เรามีนัดกันที่บ้านครูคำสอนเพื่อไปทำมิสซาในโอกาสวันปีใหม่ไทย   พอได้เวลาเราไปที่บ้านครูคำสอน  มาทำอาหารกินด้วยกัน  ครูคำสอนกับบราเดอร์และพี่น้องอีกสองคนก็ช่วยทำอาหาร    เพื่อเลี้ยงพี่น้องที่จะมาร่วมมิสซาในตอนเย็น  คืนนี้เราค้างคืนที่บ้านครูคำสอนเพื่อที่จะทำมิสซาในโอกาสปีใหม่ไทยในวันพรุ่งนี้

วันที่ 14 เมายน 2554
                วันนี้ทำมิสซาเช้าหน่อย  หลังมิสซาชาวบ้านก็จะทำพิธีดำหัวให้คุณพ่อในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย  ก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา  เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พ่อก็เดินทางกลับไปเชียงใหม่ และต่อไปยังบ้านของพ่อที่แม่แสะ เพื่อเยี่ยมพ่อแม่และทำพิธีอาทิตย์ใบลานด้วย

                ผมอยากจะบอกว่าตลอดระยะเวลากว่า 9 วัน  ได้ประสบการณ์มากมาย  ไม่ว่าจากความชื่นชมยินดีที่ได้พบกับคริสตชน  ความยากลำบากในการเดินทาง  ความมีน้ำใจของชาวบ้าน  หรือแม้แต่ความทุกข์ที่ชาวบ้านได้รับ  บางครั้งมองเห็นค่าของตัวเองจากสิ่งที่สามารถให้กับชาวบ้านได้  และสิ่งที่ชาวบ้านต้องการเช่นศีลศักดิ์สิทธิ์ บูชามิสซา  การภาวนา  และหลายโอกาสที่มองว่าตัวเองไม่มีค่าเพราะเห็นความยากลำบากของชาวบ้านแล้ว  ช่วยอะไรเขาไม่ได้  ได้แต่ขอมอบพวกเขาไว้ในความคุ้มครองดูแลของพระเจ้า  ช่วยจัดการตามน้ำพระทัยของพระองค์  และถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้ร่วมทางไม่ว่าบราเดอร์หรือครูคำสอนที่เดินเคียงข้างกันทั้งในเวลาที่ทุกข์และสุข  ขอบคุณสมาชิกแสงธรรมทุกท่านสำหรับเงินถวายพระกุมารในโอกาสคริสตมาสที่ผ่านมา  ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พันธกิจนี้สำเร็จไปด้วยดี   ผมยังมีอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ  แต่ยังต้องรอเวลาอีก เช่นค่ายคำสอนของแสงธรรมภาคฤดูร้อน    การมีทีมอภิบาลในฤดูร้อนไปช่วยตามเขตต่าง ๆ ที่ต้องการโดยเฉพาะที่ที่กันดารและห่างไกล   ชีวิตมีความสุขใจได้แม้ในที่ที่ลำบากกาย  และจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น